เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ผู้มีรถในครอบครองทุกคนควรให้ความสำคัญสำหรับ “การต่อภาษีรถยนต์” เพราะถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม โดยเจ้าของรถมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีรถยนต์ประจำปีให้กับกรมการขนส่งทางบก เพื่อแสดงว่ารถคันดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบสภาพและชำระภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าด้วยขั้นตอนรวมถึงรายละเอียดที่อาจมีความสลับซับซ้อน หลายคนจึงมีข้อสงสัย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “ ต่อภาษีรถยนต์ราคาเท่าไร?” ดังนั้น บทความนี้จึงจะมาช่วยไขให้กระจ่างและเข้าใจแบบง่าย ๆ ในสไตล์ Q&A ติดตามได้เลย
Q: รถยนต์ประเภทไหนที่ต้องเสียภาษีรถยนต์?
A: รถยนต์ทุกประเภทที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรไทย จะต้องเสียภาษีรถยนต์เป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม ภายใต้คำว่าทุกประเภท ก็มีข้อยกเว้นสำหรับรถยนต์ที่ไม่ต้องชำระภาษีประจำปีเช่นกัน ดังต่อไปนี้
- รถยนต์ของราชการ
- รถยนต์ขององค์การระหว่างประเทศ
- รถยนต์ของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ
- รถยนต์ของหน่วยงานหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรใช้ในการปฏิบัติกิจการ
- รถยนต์ที่มีอายุเกิน 30 ปี
Q: ต่อภาษีรถยนต์ราคาเท่าไร คำนวณอย่างไร?
- รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จัดเก็บตามความจุกระบอกสูบ (ซีซี)
- ไม่เกิน 600 ซีซี: ซีซีละ 50 สตางค์
- 601-1,800 ซีซี: ซีซีละ 1.50 บาท
- เกิน 1,800 ซีซี: ซีซีละ 4 บาท
- รถบรรทุกส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง: 300-1,950 บาท (แตกต่างกันไปตามน้ำหนักของรถ)
- รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง: หากน้ำหนักรถไม่เกิน 1,800 กิโลกรัม ค่าภาษีรถยนต์จะอยู่ที่ 1,300 บาท แต่ถ้าหากน้ำหนักเกินเกณฑ์ดังกล่าว ก็ต้องจ่ายภาษีในราคา 1,600 บาท
และเพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนใช้รถยนต์อย่างทะนุถนอม กฎหมายจึงมีส่วนลดให้สำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป ตามอัตราส่วนดังต่อไปนี้ - รถอายุใช้งานเกิน 6 ปี จะได้รับส่วนลดภาษี 10%
- รถอายุใช้งานเกิน 7 ปี จะได้รับส่วนลดภาษี 20%
- รถอายุใช้งานเกิน 8 ปี จะได้รับส่วนลดภาษี 30%
- รถอายุใช้งานเกิน 9 ปี จะได้รับส่วนลดภาษี 40%
- รถอายุใช้งานเกิน 10 ปี จะได้รับส่วนลดภาษี 50%
Q: เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการต่อภาษีรถยนต์มีอะไรบ้าง?
A: เพื่อไม่ให้การเดินทางไปต่อค่าภาษีรถยนต์เป็นการเสียเที่ยว ผู้ที่มีความประสงค์ในการต่อภาษีจึงควรต้องเตรียมเอกสารไปให้พร้อม โดยมีดังต่อไปนี้
- สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ หรือสำเนารายการจดทะเบียน: เอกสารสำคัญที่ใช้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์คันนั้น ๆ เช่น เลขทะเบียนรถ ชื่อเจ้าของรถ รุ่นรถ ประเภทรถ เป็นต้น เจ้าของรถสามารถขอสำเนารายการจดทะเบียนได้ที่สำนักงานขนส่งทุกแห่ง
- ใบตรวจสภาพรถ (ตรอ.) (สำหรับรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป): รถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไปจะต้องนำรถไปตรวจสภาพที่สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) เพื่อให้ตรวจสอบสภาพรถว่ายังอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยและพร้อมใช้งาน หากตรวจสภาพผ่านจะได้รับใบรับรองการตรวจสภาพรถ (ตรอ.)
- กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) (ที่ยังไม่หมดอายุ): พ.ร.บ. รถยนต์เป็นประกันภัยที่บังคับใช้สำหรับรถยนต์ทุกคัน โดยคุ้มครองความเสียหายต่อบุคคลภายนอกที่เกิดจากการใช้รถ โดยเจ้าของรถจะต้องทำประกันภัย พ.ร.บ. รถยนต์ให้ถูกต้อง พร้อมทั้งตรวจสอบให้แน่ใจว่ายังไม่หมดอายุ
Q: ต่อภาษีรถยนต์ได้ที่ไหนบ้าง?
A: จากที่เมื่อก่อนการต่อและชำระค่าภาษีรถยนต์ต้องเดินทางไปที่สำนักงานขนส่งใกล้บ้านเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มากขึ้น การต่อภาษีรถยนต์จึงทำได้ง่ายขึ้นเช่นกัน โดยมีช่องทางให้เลือกดังต่อไปนี้
- กรมการขนส่งทางบก
- ที่ทำการไปรษณีย์: มีค่าธรรมเนียมการชำระ 40 บาท
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ: สามารถต่อได้เฉพาะรถยนต์ที่อายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปีเท่านั้น และมีค่าธรรมเนียมการให้บริการ 20 บาท
- เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก https://eservice.dlt.go.th
ในการชำระค่าภาษีรถยนต์ จะมีการจัดเก็บค่าจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ รายการละ 32 บาท
เมื่อได้รู้แล้วว่าต่อภาษีรถยนต์ราคาเท่าไร อีกหนึ่งสิ่งที่เจ้าของรถต้องห้ามลืมเด็ดขาดคือ การต่อพ.ร.บ. รถยนต์ ซึ่งถ้าไม่อยากยุ่งยากวุ่นวาย ให้ gettgo เป็นตัวช่วย โดยสามารถซื้อได้สะดวกสบายผ่านช่องทางออนไลน์ จบครบกระบวนความได้ใน 3 ขั้นตอน ภายในเวลา 5 นาที รู้แบบนี้แล้วจะรออะไร กดซื้อได้เลย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-111-7800 หรือ LINE OA : @gettgo
ข้อมูลอ้างอิง
- เงื่อนไขการบริการยื่นชำระภาษีรถประจำปี. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 จาก https://eservice.dlt.go.th/esvapp/login.jsf#
- เช็คราคาต่อภาษีรถยนต์ทุกชนิด พร้อมทั้งรายละเอียดการต่อภาษี . สืบค้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 จาก https://topfilmthailand.com/vehicle-tax-price/