หากจะพูดเรื่องอะไหล่รถยนต์เวลามีปัญหาแล้วละก็ คนมีรถก็คงจะทรุดกันแน่นอนครับ โดยเฉพาะเรื่องของยางรถยนต์ไม่ว่าจะยางแตก ยางระเบิด ยางรั่ว แม้กระทั่งเหยียบตะปู แค่ยกตัวอย่างก็ปวดหัวแล้วละครับ ซึ่งสิ่งของเมื่อถูกใช้งานอยู่บ่อยๆ ก็ย่อมสึกหรอไปตามระยะเวลา ยางรถยนต์ก็เช่นกันครับ เราจึงต้องหมั่นดูแลรักษาอยู่ตลอดเวลา แค่นี้ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานยางรถยนต์ให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพแล้ว
แต่บางครั้งเหตุสุดวิสัยก็สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น ยางแตก ยางระเบิด ฯลฯ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องรีบทำหลังเกิดเหตุก็คือแจ้งบริษัทประกันภัยเพื่อเคลมประกัน แต่กรณีนี้คือยางรถยนต์แตกหรือระเบิด หลายท่านจึงไม่แน่ใจว่าประกันจะเคลมยางรถยนต์หรือไม่ มาดูกันว่ายางแตกในกรณีแบบไหน ประกันรถยนต์ ถึงจะเคลมได้ครับ
ประกันภัยรถยนต์ชั้นไหน ให้ความคุ้มครองบ้าง?
-
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ให้ความคุ้มครองในกรณีรถยางแตก
-
ประกันรถยนต์ชั้น 2+ , 3+ ให้ความคุ้มครองรถเฉพาะกรณี “รถชนรถ” เท่านั้น
-
ประกันรถยนต์ชั้น 2 , 3 ไม่ให้ความคุ้มครอง
ยางแตกกรณีไหนประกันชั้น 1 ถึงจะเคลมได้
บริษัทประกันภัยจะเคลมยางรถได้ในกรณีที่ยางแตกหรือระเบิดที่เกิดจากอุบัติเหตุเท่านั้น เช่น ขับรถตกหลุมอย่างแรง เบียดฟุตปาธ มีแรงกระแทกทำให้ยางระเบิด สาเหตุเหล่านี้จึงจะสามารถแจ้งเคลมประกันรถยนต์ประเภท 1 ได้ครับ แต่ประกันจะรับผิดชอบเพียง 50% ของราคายางเท่านั้น โดยไม่มีความเสื่อมสภาพมาเกี่ยวข้อง เพราะว่ายางรถยนต์เป็นอุปกรณ์ที่มีความเสื่อมสภาพจากการใช้งาน หากเป็นยางที่เปลี่ยนมาใหม่ เราสามารถนำหลักฐานการเปลี่ยนยางที่ระบุวันที่ชัดเจนมาเคลมค่ายางตามความเป็นจริงได้ครับ
ส่วนยางระเบิดที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของยางรถยนต์เองโดยไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ยางระเบิดเองขณะขับรถ หรือขับไปเหยียบตะปูแล้วยางรั่ว ซึ่งกรณีนี้ถ้าส่วนอื่นตัวรถเสียหายด้วย บริษัทประกันจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถเท่านั้น แต่ยางรถจะเคลมประกันไม่ได้ครับ
มื่อรู้แล้วว่ายางรถระเบิดในกรณีไหนถึงจะสามารถเคลมประกันได้ เราก็ควรป้องกันก่อนเกิดเหตุด้วยการเช็คสภาพล้อรถก่อนออกเดินทาง นอกจากนั้นควรหมั่นตรวจเช็คสภาพยางรถเป็นประจำเพื่อช่วยยืดอายุยางรถยนต์ไปในตัวด้วยครับ ไม่ใช่ตั้งแต่ซื้อรถมาเราก็ตะบี้ตะบันขับอย่างเดียวไม่สนใจสภาพรถเลย
ส่วนวิธีการดูแลยางรถยนต์เพื่อยืดอายุการใช้งานยางรถยนต์มีอะไรบ้างนั้น GettGo ก็มีมาฝากเช่นกันครับ
4 วิธีการดูแลยางรถยนต์เพื่อยืดอายุการใช้งาน
1. เติมลมยางให้เหมาะกับรถที่ใช้อยู่
ควรเติมลมยางรถยนต์ให้เหมาะสมสำหรับรถแต่ละชนิด ให้ครบทั้งสี่ล้อโดยที่แรงดัน และลมยางมีปริมาณที่เท่ากัน เพราะหากเติมปริมาณลมยางไม่เท่ากันจะทำให้การสึกหรอของยางไม่เท่ากันทั้งหมด และถ้าลมยางอ่อนไปหรือแข็งไป ก็จะทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้นเพราะยางมีความฝืดสูงกว่าปกติครับ
2. ตรวจเช็คลมยาง
หมั่นตรวจเช็คลมยางสม่ำเสมอด้วยเกจ์วัดลมที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะก่อนออกเดินทางไกลทุกครั้ง เพราะการเช็คและเติมลมยางให้เหมาะสมก็จะช่วยยืดอายุยางรถและทำให้เราปลอดภัยจากอุบัติอีกด้วยครับ นอกจากนั้น ควรเติมลมยางขณะที่ยางรถยนต์ยังเย็นอยู่ เพราะหากตรวจตอนใช้รถไปแล้วหรือตรวจขณะยางรถยังมีความร้อน จะทำให้ค่าความดันภายในยางสูงขึ้นและไม่ได้ค่าที่ใช้วัดตามมาตรฐาน
ความดันลมยางตามมาตรฐานสำหรับรถเก๋งและรถกระบะ
รถเก๋ง ความดันสูงสุด ไม่ควรเกิน 36 ปอนด์ / ตารางนิ้ว ขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของรถด้วย
-
รถเก๋งขนาดเล็ก ความดันลมยาง ประมาณ 25 – 30 ปอนด์ / ตารางนิ้ว
-
รถเก๋งขนาดกลางถึงใหญ่ ความดันลมยาง ประมาณ 30 – 35 ปอนด์ / ตารางนิ้ว
-
รถกระบะ ความดันลมยาง ไม่ควรเกิน 65 ปอนด์ / ตารางนิ้ว
3. ใช้ยางรถยนต์ให้ถูกประเภท
เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนยางเส้นใหม่ควรเลือกยางรถยนต์ที่เหมาะสมกับประเภทการใช้งาน และควรเลือกใช้ยางที่มียี่ห้อและรุ่นเดียวกันทั้งชุด นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงจุดประสงค์ในการวิ่งด้วย เช่น วิ่งในเมือง, ต่างจังหวัด ก็เลือกยางที่เหมาะกับสภาพที่ต้องใช้วิ่งประจำ ก็จะช่วยยืดอายุของยางมากขึ้น แถมยังปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของเราอีกด้วย
4. ตรวจสภาพของดอกยางสม่ำเสมอ
ควรสังเกตการสึกหรอที่ผิดปกติตลอดหน้ายางอยู่เสมอ เช่น หากหน้ายางสึกเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งแสดงว่าศูนย์ล้อผิดปกติ แต่หากยางสึกไม่เรียบเสมอกันตลอดหน้ายางอาจเกิดจากระบบช่วงล่าง เมื่อเห็นถึงความผิดปกติดังกล่าวแล้วต้องรีบเปลี่ยนอย่างโดยด่วนครับเพราะจะมีผลต่อการทรงตัวของรถซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
รู้วิธีตรวจเช็คสภาพของยางรถยนต์เบื้องต้นด้วยตัวเองแล้ว หากพบยางรถเริ่มเสื่อมสภาพควรรีบเปลี่ยน ใหม่ทันทีเลยครับเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตของคุณและผู้ร่วมใช้ถนน แถมยังไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องเคลมประกันเมื่อยางระเบิดอีกด้วย และหากคุณสนใจทำประกันรถยนต์แต่ยังไม่รู้จะซื้อประกันภัย กับบริษัทอะไร ซื้อที่ไหน เพียงคลิก ก็จะช่วยคุณเปรียบเทียบประกันภัยกว่า 10 บริษัท ให้คุณเลือกประกันที่เหมาะกับตัวเองที่สุดอีกด้วยครับ