เนื่องจาก “รถยนต์” เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้มีเงินสดมากพอที่จะจ่ายเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของในคราวเดียว ด้วยเหตุนี้ จึงมีกฎหมายที่มาเป็นตัวช่วยให้คนสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์กันได้ง่ายยิ่งขึ้น นั่นคือ “กฎหมายเช่าซื้อรถ” ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบ หรือข้อผิดพลาดขึ้น ทุกคนควรที่จะศึกษากฎหมายการเช่าซื้อก่อนตัดสินใจจรดปากกาทำนิติกรรมสัญญาเช่าซื้อรถ บทความนี้จึงจะอาสาเป็นตัวช่วย ย่อยภาษากฎหมายที่เข้าใจยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย อ่านจบแล้วสามารถพกความมั่นใจไปเช่าซื้อรถได้เลย
การเช่าซื้อรถคืออะไร?
ก่อนจะไปถึงในส่วนของสัญญาเช่าซื้อรถ ควรเริ่มจากการปูพื้นฐานเกี่ยวกับความหมายของการเช่าซื้อรถเสียก่อน เพราะเมื่อเข้าใจคอนเซปต์ ก็จะต่อยอดสู่การเข้าใจในส่วนอื่น ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 บัญญัติว่า “สัญญาเช่าซื้อนั้น หมายถึงสัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินเอาทรัพย์สินของตนออกให้ผู้อื่นเช่า เพื่อใช้สอยหรือเพื่อให้ได้ประโยชน์ และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์นั้นหรือจะให้ทรัพย์สินที่เช่าตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าซื้อ เมื่อได้ใช้เงินจนครบตามที่ตกลงไว้โดยการชำระเป็นงวด ๆ จนครบตามข้อตกลง”
ดังนั้น การเช่าซื้อรถยนต์จึงเป็นการช่วยให้ผู้ที่มีเงินออมไม่เพียงพอ ให้สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องจ่ายค่างวดเป็นงวด ๆ ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทไฟแนนซ์ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยในระหว่างที่ยังผ่อนชำระไม่หมด บริษัทไฟแนนซ์จะยังเป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวอยู่ จนกระทั่งผู้เช่าซื้อชำระเงินครบตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ กรรมสิทธิ์จึงจะถูกโอนมายังผู้เช่าซื้อ
ดอกเบี้ยในข้อกฎหมายเช่าซื้อรถยนต์
แน่นอนว่าคงไม่มีบริษัทไฟแนนซ์ไหนยอมให้เช่าซื้อรถยนต์โดยไม่คิดดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยนี่แหละคือกำไรของบริษัทไฟแนนซ์ อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรม กฎหมายเช่าซื้อรถจึงได้กำหนดเงื่อนไขเรื่องดอกเบี้ยไว้ดังต่อไปนี้
- รถยนต์ใหม่ เมื่อคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ต่อปี
- รถยนต์มือสอง เมื่อคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกแล้ว ต้องไม่เกิน 15% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่างวด ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกเก็บเบี้ยปรับจากผู้เช่าซื้อได้ โดยอัตราเบี้ยปรับผิดนัดชำระค่างวดจะอยู่ที่ไม่เกิน 5% ต่อปี ของยอดเงินที่ค้างชำระ
จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่สามารถชำระค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อรถได้?
เนื่องจากหน้าที่ของผู้เช่าซื้อตามกฎหมายเช่าซื้อรถคือ การชำระค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อรถที่ตกลงกันไว้ ดังนั้น หากผู้เช่าซื้อไม่สามารถชำระค่างวดตามสัญญาได้ ก็ย่อมเกิดผลกระทบตามมาหลายประการ ดังต่อไปนี้
- ถูกไฟแนนซ์ติดตามทวงถาม: เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่างวด ไฟแนนซ์จะมีหนังสือติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ภายใน 30 วัน หากผู้เช่าซื้อไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด ไฟแนนซ์ก็มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ
- โดนยึดรถ: หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่างวดติดต่อกัน 3 งวด หรือเป็นระยะเวลา 4 เดือน ไฟแนนซ์ก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะยึดรถได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องนำรถไปคืนให้กับไฟแนนซ์ พร้อมกับชดใช้หนี้ที่ค้างอยู่ทั้งหมดคืนให้กับไฟแนนซ์ รวมถึงต้องชดใช้ค่าขาดราคาอีกด้วย
- อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดี: ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อไม่ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ทั้งหมดคืนให้กับไฟแนนซ์ ก็อาจโดนฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเพื่อเรียกหนี้คืนได้ ดังนั้น หากผู้เช่าซื้อไม่สามารถชำระค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อรถได้ ควรรีบติดต่อไฟแนนซ์เพื่อเจรจาหาทางออกร่วมกัน โดยอาจขอขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ หรือขอเปลี่ยนรูปแบบการผ่อนชำระ เป็นต้น
แน่นอนว่าการเข้าใจกฎหมายเช่าซื้อรถช่วยให้ผู้เช่าซื้อมีความอุ่นใจในการทำนิติกรรม แต่ถ้าอยากเพิ่มความอุ่นใจขึ้นอีกระดับ ก็ควรที่จะทำประกันรถยนต์ไว้ด้วย โดยขอแนะนำประกันรถยนต์รายเดือนจาก gettgo คุ้มครองสบาย 30 วัน ไม่มีค่าเสียหายส่วนแรก ตอบโจทย์คนอยากจ่ายเท่าที่จำเป็น ดูแลครบแม้ไม่ได้ใช้รถบ่อย ซื้อได้สะดวกผ่านช่องทางออนไลน์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-111-7800 หรือ LINE OA : @gettgo
ข้อมูลอ้างอิง
- เงื่อนไข "กฎหมายเช่าซื้อรถยนต์" ผ่อนรถ จยย. ฉบับใหม่เริ่มใช้ 10 ม.ค.นี้. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 จาก https://www.komchadluek.net/news/economic/537252
- ดีเดย์ 10 ม.ค.66 เริ่มใช้กฎหมายคุมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 จาก https://www.thansettakij.com/business/552521
- รู้ยัง? สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ - รถจักรยานยนต์ ใหม่ คิดดอกเบี้ยแบบลดต้น ลดดอก. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1049156