สวัสดีครับทุกคน วันนี้เรามาส่งท้ายเดือนแห่ง Pride Month กันสักหน่อยครับ อย่างที่ทราบกันดีว่าชาว LGBTQ+ หรือกลุ่มเพศทางเลือกของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับทางสังคมมากขึ้นแล้ว แต่นั่นอาจจะเป็นเพียงการยอมรับโดยทั่วไปที่อาจยังไม่ใช่ “การยอมรับทางกฎหมาย” ที่เทียบเท่าชายหญิงนั่นเองครับ เพราะแม้จะมีกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิตออกมาเอื้อให้ชาว LGBTQ+ แล้ว แต่ดูเหมือนยังมีบางสิทธิ์ที่ “หล่นหายไป” แม้ชาวเพศทางเลือกที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ก็ย่อมถือว่าพวกเขาเป็น ‘ครอบครัว’ เดียวกันแล้วก็ตาม
สิทธิ์ใดพึงมี สิทธิ์ใดที่หล่นหาย ?
สิทธิ์ของคู่รักที่แต่งงานถูกต้องตามกฏหมายแล้ว ก็ยังถูกจำกัดด้วยคำว่า ‘เพศ’ อยู่บางประการครับ เรามาดูกันครับว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตให้อะไรแก่คู่รัก LGBTQ+ บ้าง ? ข้อไหนดี ข้อไหนเด่น หรือข้อไหนตกหล่น ไปดูกันครับ
สิทธิ์ที่ได้รับ
1. สิทธิ์ในการให้และรับมรดก
2. สิทธิ์ในการจัดการสินสมรสร่วมกัน
3. สิทธิ์ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
4. สิทธิ์ในการทำนิติกรรมและจัดการหนี้สินร่วมกัน
5. สิทธิ์ในการร้องขอต่อศาลเป็นผู้อนุบาลคู่สมรสอีกฝ่ายที่วิกลจริตหรือเสมือนไร้ความสามารถหรือไร้ความสามารถ
สิทธิ์สำคัญที่หล่นหาย
1. การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ-สกุล
2. การลดหย่อนภาษีจากการมีคู่สมรส
3. สวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐที่คู่สมรสพึงได้รับ
4. การเป็นคู่ความประมวลกฎหมายอาญาแทนคู่สมรส
5. การรับบุตรบุญธรรมและการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยี (การอุ้มบุญ)
6. สิทธิ์ในกองทุนประกันสังคมของคู่สมรสตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฯลฯ
จะเห็นได้ว่ามีจุดนึงที่น่าสนใจในข้อ 3. ที่ผมจะหยิบมาขยายครับ ซึ่งเป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อย ๆ เรื่องของสิทธิ์ที่หล่นหายในการเป็น “ครอบครัว” ที่ไม่มีสิทธิ์เบิกจ่ายค่ารักษาให้คู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะ หญิง-หญิง หรือ ชาย-ชาย ก็ตาม ผมว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้านะครับ เพราะโรคภัยนั้นไม่เลือกเพศ ไม่เลือกเวลาเกิด ถึงเวลาเจ็บป่วยขึ้นมาไหนจะค่ารักษา ค่ายา ค่าห้อง ล้วนต้องรับผิดชอบเองเต็ม ๆ เลยล่ะครับ
เมื่อ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ≠ คู่สมรส
แม้ว่าสังคมเปิดรับในวงกว้างแต่ความเท่าเทียมกลับยังไม่ชัดเจนครับ เมื่อคู่รัก LGBTQ+ ที่จดทะเบียนคู่ชีวิตถูกต้องตามกฏหมายกลับมีสิทธิ์บางอย่างตกหล่นไป
ยกตัวอย่างข่าวคู่รัก LGBTQ+ คุณมิกกี้และคุณกรครับ ผมสรุปให้สั้น ๆ ครับว่าทั้งคู่แต่งงานกันในทางปฏิบัติ ตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกันมากว่า 5-6 ปี คุณมิกกี้รับราชการครู ส่วนคุณกรเป็นพนักงานขับรถ คุณกรเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย คุณหมอไม่แนะนำให้ใช้คีโมในการรักษาเพราะเป็นระดับแพร่กระจายแล้ว ต้องใช้ยาเฉพาะรักษาเท่านั้น
ซึ่งยานี้จริง ๆ แล้วคุณมิกกี้จะสามารถใช้สิทธิ์ข้าราชการเบิกให้คุณกรได้ครับ แต่ด้วย พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทำให้สิทธิ์ตรงนี้ของทั้งคู่หล่นหายไป เนื่องจากเป็น “เพศเดียวกัน” ทำให้คุณกรมีค่าใช้จ่ายยานี้เม็ดละ 2,000.- ใช้วันละ 2 เม็ด เท่ากับ 4,000.- สรุปได้ว่าค่ายาที่ต้องจ่ายตกเดือนละ 120,000.- ไปโดยปริยายครับ (siamrath.co.th/n/208447)
ตัวอย่างนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาด้านสุขภาพเท่านั้นครับ นอกจากนี้ยังรวมถึงการที่ไม่สามารถเซ็นยินยอมให้คู่ชีวิตเราเข้าผ่าตัดได้ เซ็นรับศพให้ไม่ได้ หรือแม้แต่คู่ LGBTQ+ ที่ใช้ชีวิตด้วยกันมานาน หากทำประกันชีวิตไว้แต่ไม่ได้ลงชื่อคู่ชีวิตให้เป็นผู้รับผลประโยชน์ ถ้าใครคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตจะไม่สามารถรับเงินประกันชีวิตในส่วนนั้นได้ เงินประกันชีวิตจะตกเป็นของทายาทโดยธรรมก่อน แต่หากเช็คตามลำดับทายาทโดยธรรมแล้วไม่มี ทางบริษัทประกันก็จะพิจารณาตามกระบวนการและกฎของแต่ละบริษัทประกันนั่นเองครับ
แม้จะมีบางสิทธิ์ตกหล่นไป แต่ผมเชื่อว่าชาว LGBTQ+ ทุกคนยังคงเดินหน้าต่อสู้เพื่อคว้าสิทธิ์ที่หล่นหายกลับมาให้ได้ อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครับ ผมก็เป็นคนนึงที่อยากเห็น “ความเท่าเทียม” ให้คู่รักทุกคู่ใช้สิทธิ์ของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ครับ
Source: www.prachachat.net ,www.bbc.com , www.sanook.com, www.posttoday.com